วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

บานเย็น

         บานเย็น (อังกฤษ: Four-o’clocks; Marvel of Peru; ชื่อวิทยาศาสตร์: Mirabilis jalapa L.) เป็นไม้ดอกในสกุล Mirabilis ที่นิยมปลูกมากที่สุด มีสีดอกที่หลากหลาย กล่าวกันว่าบานเย็นถูกนำออกมาจากถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาแอนดิส ในเปรู ช่วงปี ค.ศ. 1540 คำว่า Mirabilis ในภาษาละตินหมายถึง ยอดเยี่ยม, สวยงาม, มหัศจรรย์ ส่วนคำว่า Jalapa เป็นชื่อเมืองแห่งหนึ่งในประเทศเม็กซิโก

          ดอกและสีดอก : ความน่าสนใจของบานเย็นคือ เป็นไม้ดอกที่สามารถมีดอกหลายสีอยู่บนต้นเดียวกันพร้อมๆ กันได้ นอกจากนี้ในแต่ละดอกอาจมีหลายสีปนกันอยู่ได้เช่นกัน จุดสนใจอีกประการหนึ่งคือการที่สีดอกจะเปลี่ยนไปเมื่อต้นบานเย็นมีอายุมาก ขึ้น เช่น บานเย็นพันธุ์ดอกเหลือง สีของดอกอาจค่อยๆ เปลี่ยนเป็นชมพูเข้ม หรือ พันธุ์ดอกขาวอาจจะเปลี่ยนเป็นม่วงอ่อนได้ ดอกบานเย็นจะบานในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ เป็นต้นไป จึงเป็นที่มาของชื่อไทยว่า "บานเย็น" หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "ดอกสี่โมง" (four o'clock flower) เมื่อดอกบานจะมีกลิ่นหอมจัดแบบกลิ่นหอมหวานๆในประเทศจีน เรียกบานเย็นว่า "ดอกสายฝน" (shower flower) หรือ "ดอกหุงข้าว" (rice boiling flower) เพราะดอกบานเย็นจะบานในช่วงเวลานั้น ส่วนในฮ่องกง เรียกว่า "มะลิม่วง" (purple jasmine)

            ส่วนของกลีบดอกที่เห็นเป็นสีต่างๆ นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่กลีบดอกแท้ แต่เป็นส่วนกลีบเลี้ยง (calyx) ที่เปลี่ยนรูปไปจากปกติและมีเม็ดสี (pigments) การผสมเกสรเกิดโดยแมลงกลางคืนชนิดที่มีลิ้นยาวซึ่งถูกดึงดูดมาหาดอกบานเย็น โดยกลิ่นหอมที่ปล่อยออกมานั่นเอง

          ถิ่นอาศัยและการเพาะปลูก : บานเย็นถูกนำออกมาจากเขตมรสุมของทวีปอเมริกาใต้ แล้วนำไปปลูกอย่างแพร่หลายในเขตอบอุ่นและเขตร้อนอื่นๆ จนกลายเป็นพืชประจำถิ่น ในพื้นที่เขตอบอุ่นที่ค่อนข้างเย็น ต้นบานเย็นจะตายเมื่ออากาศเย็นจนเริ่มมีน้ำแข็ง แต่จะงอกกลับขึ้นใหม่ในฤดูใบไม้ผลิถัดไปจากเหง้าที่ฝังอยู่ใต้ดิน ต้นบานเย็นโตได้ดีที่สุดในแสงแดดจัด ความสูงต้นเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 90 ซม. ผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดมีลักษณะกลม ผิวเปลือกเมล็ดเปลี่ยนสีจากเหลืองปนเขียวเป็นสีดำและย่นเมื่อเมล็ดแก่จัด การกระจายเมล็ดเกิดได้เองและอาจแพร่กระจายได้เร็วมากจนกลายเป็นวัชพืชถ้าขาด การควบคุมดูแลที่ดี ผู้ปลูกบางรายแนะนำว่าก่อนปลูกควรแช่เมล็ดก่อน แต่พบว่าไม่จำเป็น

           การศึกษาด้านพันธุกรรม : ในช่วงปี ค.ศ.1900 คาร์ล คอร์เรนส (Carl Correns) ใช้ต้นบานเย็นเป็นพืชต้นแบบสำหรับการศึกษาวิจัยเรื่องการถ่ายทอดพันธุกรรม ทางไซโตพลาสซึม (cytoplasmic inheritance) โดยใช้ต้นบานเย็นพันธุ์ที่มีใบลายในการพิสูจน์ว่า มีปัจจัยบางอย่างที่อยู่นอกนิวเคลียสเป็นตัวกำหนดลักษณะทางกายภาพของต้นบาน เย็น ด้วยกลไกที่ไม่สามารถอธิบายได้โดยทฤษฎีของเมนเดล คอร์เรนสเสนอความคิดว่าลักษณะสีของใบบานเย็นถ่ายทอดสู่รุ่นลูกจากบรรพบุรุษ ฝ่ายเดียว (uniparental mode of inheritance) เมื่อทำการผสมเกสรระหว่างต้นดอกสีแดงกับต้นดอกสีขาว จะได้รุ่นลูกที่มีดอกสีชมพู ไม่ใช่สีแดง ซึ่งเป็นลักษณะที่อยู่นอกเหนือกฎยีนเด่นข่มยีนด้อยของเมนเดล (Mendel's Law of Dominance) เพราะในกรณีนี้ยีนที่ให้ดอกสีแดงกับยีนให้ดอกสีขาวมีการแสดงออกเท่ากัน จึงไม่มีลักษณะของยีนใดยีนหนึ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดเพียงลักษณะเดียว

การใช้ประโยชน์
  • ดอกบานเย็น ใช้ทำสีผสมอาหารสีแดงเข้ม ซึ่งมักใช้แต่งสีเค้กและเจลลี่
  • ใบ กินสุกได้ แต่ควรกินเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • ส่วนต่างๆ ของต้นบานเย็นนำไปใช้ในยาขับปัสสาวะ ยาระบาย และรักษาแผล ส่วนรากเชื่อว่ามีสรรพคุณเพิ่มสมรรถนะทางเพศ และออกฤทธิ์ขับปัสสาวะและระบายท้อง รวมถึงมีการใช้เพื่อรักษาอาการบวมน้ำ
  • ใบ ใช้ลดอาการอักเสบ น้ำคั้นใบตำละเอียดและต้มแล้วใช้รักษาฝีหนอง
  • เมล็ดของบานเย็นบางพันธุ์ เมื่อบดละเอียดเป็นผงใช้ผสมในเครื่องสำอางและสีย้อม แต่เมล็ดบานเย็นส่วนใหญ่ถือว่ามีพิษ
อ้างอิง
ข้อมูล :




  • Correns, C. Vererbungsversuche mit blass (gelb) grünen und buntblättrigen Sippen bei Mirabilis, Urtica und Lunaria. ZIAV 1, 291–329 (1909)
  • Pierce, B. Genetics: A Conceptual Approach, 2nd ed. (New York, Freeman, 2005)
รูปภาพ : www.biogang.net

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น