วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พลับพลึง

          พลับพลึง (Crinum Lily,Cape Lily) เป็นพรรณไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ และมีหัวอยู่ใต้ดิน พบได้ในจีน, ฮ่องกง, อินเดีย และ ญี่ปุ่น มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆคือ ลิลัว (ภาคเหนือ), พลับพลึง (ภาคกลาง)

ลักษณะทั่วไป
            พลับพลึงเป็นพรรณไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ และมีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นกลมมีความกว้างประมาณ 15 ซม. และยาวประมาณ 30 ซม.ใบจะออกรอบ ๆ ลำต้น ลักษณะใบแคบยาวเรียว ใบจะอวบน้ำ ขอบใบจะเป็นคลื่น ตรงปลายใบจะแหลม ใบจะมีความยาวประมาณ 1 เมตร และกว้างประมาณ 10-15ซม. ดอกจะออกเป็นช่อ ตรงปลายจะเป็นกระจุกมีประมาณ 12-40 ดอก ตอนดอกยังอ่อนอยู่จะมีกาบเป็นสีเขียวอ่อน ๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ ก้านช่อดอกจะมีความยาวประมาณ 90 ซม. ดอกมีความยาวประมาณ 15 ซม. กลีบดอกจะเป็นสีขาว และมีกลิ่นหอม เกสรตัวผู้จะมีอยู่ 6 อัน ติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ตรงปลายเกสรมีลักษณะเรียวแหลมยาวเป็นสีแดง โคนเป็นสีขาว ส่วนอับเรณูนั้น จะเป็นสีน้ำตาล ผลเป็นสีเขียวอ่อน และผลค่อนข้างกลม

สรรพคุณทางยา
  • ใบ คนโบราณจะรู้กันดีว่าสามารถนำมารักษาอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ คลายเส้น แก้อาการฟกช้ำปวดบวมได้ และยังสามารถนำไปใช้กับคุณแม่ที่เพิ่งคลอด หรืออยู่ไฟได้ โดยเอามาประคบหน้าท้อง ทำให้มดลูกเข้าที่อยู่ตัว น้ำคาวปลาแห้ง ขจัดไขมันส่วน เกิน และขับของเสียต่างๆออกจากร่างกายคุณแม่ที่เพิ่งคลอดได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะและน้ำดี
  • เมล็ด สามารถขับเลือดประจำเดือนให้ออกมาให้หมดได้
  • ราก สามารถนำมาตำแล้วพอกแผลก็ได้
อ้างอิง
ข้อมูล : EOL Crinum asiaticum". http://eol.org/pages/1087153. เรียกข้อมูลเมื่อ 2009-05-23.สมุนไพร.คอม
รูปภาพ : nkvc.ac.th

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กุหลาบ


          กุหลาบ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa hybrids ชื่อสามัญคือ กุหลาบ หรือ rose อยู่ในวงศ์: Rosaceae มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย

         ศัพทมูลวิทยา : คำว่ากุหลาบนั้นเป็นคำศัพท์มาจากภาษาฮินดี (गुलाब อ่านว่า กุ-ลาพ หรือคนไทยเราเรียกว่า คุ-ลาพ แล้วตอนหลังก็เป็นกุหลาบ) ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่าสีแดง

        ประเภท : กุหลาบสามารถจำแนกได้ หลายแบบ เช่น จำแนกตามลักษณะการเจริญเติบโต ขนาดดอก สีดอก ความสูงต้น และจำแนก ตามลักษณะของดอก เป็นต้น ในที่นี้ได้จำแนกกุหลาบเฉพาะกุหลาบตัดดอกตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ทางการค้าในตลาดโลกเป็น 5 ประเภทดังนี้
  • กุหลาบดอกใหญ่ หรือ กุหลาบก้านยาว (large flowered or long stemmed roses) กุหลาบประเภทนี้เป็นกุหลาบไฮบริดที (Hybrid Tea: HT) ที่มีดอกใหญ่ แต่การดูแลรักษายาก ผลผลิตต่ำ (100-150 ดอก/ตร.ม./ปี) และอายุการปักแจกันสั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกุหลาบ Floribunda มักมีก้านยาวระหว่าง 50-120 เซนติเมตร กุหลาบดอกใหญ่ได้รับความนิยมมากใน สหรัฐอเมริกา โคลัมเบีย เอกวาดอร์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น ซิมบับเว โมร๊อกโก ฝรั่งเศส และ อิตาลี พันธุ์กุหลาบดอกใหญ่ที่เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศได้แก่ พันธุ์ เวก้า (Vega: แดง) , มาดาม เดลบา (Madam Delbard) , วีซ่า (Visa: แดง) , โรเท โรเซ (Rote Rose: แดง) , คารล์ เรด (Carl Red: แดง) , โซเนีย (Sonia: ชมพูส้ม) , เฟิร์สเรด (First Red: แดง) , โพรฟิตา (Prophyta: ปูนแห้ง) , บิอังกา (Bianca: ขาว) , โนเบลส (Noblesse: ชมพูส้ม) และ แกรนด์ กาลา (Grand Gala: แดง) เป็นต้น
  • กุหลาบดอกกลาง หรือ กุหลาบก้านขนาดกลาง (medium flowered or medium stemmed roses) เป็นกุหลาบชนิดใหม่ ซึ่งมีลักษณะระหว่างกุหลาบดอกใหญ่ และเล็ก เป็นกุหลาบ Hybrid Tea ให้ผลผลิตสูง (150-220 ดอก/ตร.ม./ปี) อายุการปักแจกันยาว และทนการขนส่งได้ดี ความยาวก้านระหว่าง 40-60 ซม. แหล่งผลิตที่สำคัญได้แก่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี อิสราเอล ซิมบับเว เคนยา พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่พันธุ์ ซาช่า (Sacha: แดง) , เมอร์ซิเดส (Mercedes: แดง) , เกเบรียล (Gabrielle: แดงสด) , คิสส์ (Kiss: ชมพู) , โกลเด้นทาม (Goldentime: เหลือง) , ซาฟารี (Safari: ส้ม) และ ซูวีเนีย (Souvenir: ม่วง) เป็นต้น
  • กุหลาบดอกเล็ก หรือ กุหลาบก้านสั้น (small flowered or short stemmed roses) เป็นกุหลาบที่ได้รับความนิยมปลูก และบริโภคกันมากในยุโรป โดยเฉพาะ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ กุหลาบก้านสั้นนี้เป็นกุหลาบ Floribunda ที่ให้ผลผลิตสูง (220-350 ดอก/ตร.ม./ปี) อายุการปักแจกันยาว และทนต่อการขนส่งดีกว่ากุหลาบดอกใหญ่ มักมีความยาวก้านระหว่าง 30-50 เซนติเมตร แหล่งผลิตกุหลาบดอกเล็กได้แก่ประเทศ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิสราเอล และเคนยา พันธุ์ที่นิยมปลูกได้แก่พันธุ์ ฟริสโก (Frisco:เหลือง) , เอสกิโม (Escimo: ขาว) , โมเทรีย (Motrea: แดง) , เซอไพรซ์ (Surprise: ชมพู) , และ แลมบาด้า (Lambada: แสด) เป็นต้น
  • กุหลาบดอกช่อ (spray roses) เป็นกุหลาบชนิดใหม่ ให้ผลผลิตต่ำต่อพื้นที่ (120-160 ดอกต่อตารางเมตรต่อปี) ความยาวก้านระหว่าง 40-70 ซม. มักมี 4-5 ดอกในหนึ่งช่อ และยังมีตลาดจำกัดอยู่ เช่นพันธุ์ เอวีลีน (Evelien: ชมพู) เดียดีม (Diadeem: ชมพู) และ นิกิต้า (Nikita: แดง) เป็นต้น
  • กุหลาบหนู (miniature roses) มีขนาดเล็กหรือแคระโดยธรรมชาติ ความสูงของทรงพุ่มไม่เกิน 1 ฟุตให้ผลผลิตสูง 450-550 ดอก/ตร.ม./ปี มีความยาวก้านดอกระหว่าง 20-30 ซม. ยังมีตลาดจำกัดอยู่ยกเว้นในประเทศญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ และอิตาลี

      สายพันธุ์ : การคัดเลือกพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันจะคำนึงถึงประโยชน์ และความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับ มากกว่าการที่ดอกสวยสะดุดตาแต่เมื่อซื้อไปก็เหี่ยวทันที ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์กุหลาบในปัจจุบันมักมีข้อพิจารณาดังนี้
1.      มีผลผลิตสูง ปัจจุบันกุหลาบดอกเล็กให้ผลผลิตสูงถึง 300 ดอก/ตร.ม./ปี
2.      อายุการปักแจกันนาน พันธุ์กุหลาบในสมัยทศวรรษที่แล้วจะบานได้เพียง 5-6 วัน ปัจจุบันกุหลาบพันธุ์ใหม่ ๆ สามารถบานได้ทนถึง 16 วัน
3.      กุหลาบที่สามารถดูดน้ำได้ดี
4.      กุหลาบที่ไม่มีหนามหรือหนามน้อยเพื่อความสะดวกในการจัดการ
5.      สี สีแดงยังคงครองตลาดอยู่ รองลงมาคือสีชมพู สีอ่อนเย็นตา และสองสีในดอกเดียวกัน
6.      กลิ่น เป็นที่เสียดายที่กุหลาบกลิ่นหอมมักไม่ทน แต่ก็มีการผสมพันธุ์กุหลาบตัดดอกกลิ่นหอมบ้าง สำหรับตลาดท้องถิ่น
7.      มีความต้านทานโรค และทนความเสียหายจากการจัดการสูง

         การขยายพันธุ์กุหลาบ : กุหลาบ สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตัดชำ การตอน การติดตา และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้ต้นกุหลาบที่มีระบบรากที่แข็งแรง และให้ผลผลิตสูงเกษตรกรมักนิยมกุหลาบพันธุ์ดีที่ติดตาบนตอกุหลาบป่า การปลูกและการจัดการสภาพที่เหมาะสมในการปลูก

          พื้นที่ปลูก ควรปลูกในที่ที่ระบายน้ำได้ดี มีความเป็นกรดเล็กน้อย พีเอ็ช ประมาณ 6-6.5 และได้แสงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง อุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญของกุหลาบคือ กลางคืน 15-18 องศาเซลเซียส และกลางวัน 20-25 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิที่จะทำให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดี และให้ผลผลิตสูง หากอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส การเจริญเติบโตและการออกดอกจะช้าอย่างมาก หากอุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส ควรให้มีความชื้นในอากาศสูงเพื่อชลอการคายน้ำ ความชื้น ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับการเจริญของกุหลาบคือร้อยละ 70-80 แสง กุหลาบจะให้ผลผลิตสูง และดอกมีคุณภาพดี ถ้าความเข้มของแสงมาก และช่วงวันยาว

การให้น้ำ และปุ๋ยกุหลาบ

         การให้น้ำ : ให้น้ำระบบน้ำหยด หรือใช้หัวพ่นน้ำระหว่างแถวปลูก อัตรา 6-7 ลิตร/ตร.ม./ วัน หรือ 49 ลิตร/ตร.ม./สัปดาห์ อาจให้ทุกวัน วันเว้นวัน หรือ 2-3 วันต่อครั้ง แล้วแต่สภาพการอุ้มน้ำของดิน อย่ารดน้ำให้ดินแฉะตลอดเวลา ควรให้ดินมีโอกาสระบายน้ำ และมีอากาศเข้าไปแทนที่บ้าง ดังนั้นใน 1 สัปดาห์ หากปลูกในโรงเรือนจะต้องใช้น้ำประมาณ 78,400 ลิตร หรือ 78.4 คิวบิคเมตร ต่อไร่ น้ำที่ใช้ควรมีคุณภาพดี มี pH 5.8-6.5

การให้ปุ๋ยก่อนปลูก : ปุ๋ยก่อนปลูกคือปุ๋ยที่ผสมกับเครื่องปลูกก่อนการปลูกพืช ซึ่งให้ประโยชน์ 2 ประการคือ
1.      ให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการอย่างเพียงพอตั้งแต่เริ่มปลูก
2.      ให้ธาตุอาหารบางชนิดในปริมาณมากและเพียงพอสำหรับการปลูกพืชตลอดฤดู ซึ่งทำให้สามารถงดหรือลดการให้ปุ๋ยนั้น ๆ ได้
           ระหว่างการปลูกพืชการให้ธาตุอาหารทุกชนิดแก่พืชในขณะปลูก ทำได้ลำบากเนื่องจากมีถึง 14 ธาตุ ธาตุบางชนิดจะมีอยู่ในดินอยู่แล้ว บางชนิดต้องให้เพิ่มเติม หากเป็นไปได้ควรส่งดินไปตรวจเพื่อรับคำแนะนำว่าควรปรับปรุงดินได้อย่างไร ซึ่งตัวอย่างสามารถส่งไปตรวจที่กองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ

          การให้ปุ๋ยระหว่างปลูก : ปริมาณ และสัดส่วนของธาตุอาหารการให้ปุ๋ยระหว่างปลูกพืช เนื่องจากธาตุอาหารส่วนใหญ่จะมีอยู่ในดินแล้วเมื่อปลูกพืชจึงยังคงเหลือธาตุ ไนโตรเจน และโปแตสเซืยม ซึ่งจะถูกชะล้างได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องให้ปุ๋ย ทั้งสองในระหว่างที่พืชเจริญเติบโต ซึ่งการให้ปุ๋ยอาจทำได้โดยการให้พร้อมกับการให้น้ำ (fertigation)
            การให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำสำหรับกุหลาบ หากให้ทุกวันจะให้ในอัตราความเข้มข้นของไนโตรเจน 160 มก./ลิตร (ppm) และหากให้ปุ๋ยทุกสัปดาห์ควรให้ในอัตราความเข้มข้นของไนโตรเจน 480 มก./ลิตร สัดส่วนของไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P2O) และโปแตสเซียม (K2O) สำหรับกุหลาบในระยะต่าง ๆ คือ
1.      ระยะสร้างทรงพุ่ม สัดส่วน 1 : 0.58 : 0.83
2.      ระยะให้ดอก สัดส่วน 1 : 0.5 : 0.78
3.      ระยะตัดแต่งกิ่ง สัดส่วน 1: 0.8 : 0.9
== การตัดแต่งกิ่งกุหลาบ ==
            การดูแลกุหลาบ ระยะแรกหลังปลูกเมื่อตากุหลาบเริ่มแตก ควรส่งเสริมให้มีการเจริญทางใบ เพื่อการสะสมอาหาร และสร้างกิ่งกระโดง เพื่อให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ และก้านยาว ซึ่งทำได้ด้วยการเด็ดยอดเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยเด็ดส่วนเหนือใบสมบูรณ์ (5 ใบย่อย) ใบที่สองจากยอด เมื่อดอกมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา จากนั้นกิ่งกระโดงจะเริ่มแทงออก ซึ่งกิ่งกระโดงนี้จะเป็นโครงสร้างหลักให้ต้นกุหลาบ ที่ให้ดอกมีคุณภาพดี

          การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งกิ่งกุหลาบปฏิบัติได้หลายวิธี แต่ละวิธีจะใช้หลักการที่คล้ายกัน คือตัดแต่งเพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์เพื่อการตัดดอก และเพื่อให้ได้กิ่งกระโดง (water sprout หรือ bottom break) มากขึ้น และจะรักษาใบไว้กับต้นให้มากที่สุด เพื่อให้ได้กิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด ควรรักษาให้พุ่มกุหลาบโปร่ง และไม่สูงมากเกินไปนัก เพื่อสะดวกต่อการดูแลรักษา และแสงที่กระทบโคนต้นกุหลาบจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิ่งกระโดงอีกด้วย การตัดแต่งกิ่งที่นิยมในปัจจุบันได้แก่การตัดแต่งกิ่งแบบ ตัดสูงและต่ำการตัดแต่งแบบ ตัดสูงและต่ำ (สูงและต่ำจากจุดกำเนิดของกิ่งสุดท้าย) เป็นการตัดแต่งเพื่อให้มีการผลิตดอกสม่ำเสมอทั้งปี

           ประโยชน์ : ปลูกเพื่อความสวยงาม ตกแต่งสวน เพิ่มบรรยากาศ ใช้ประดับตกแต่งบ้าน งานเลี้ยง งานแต่งงาน ปลูกเพื่อส่งดอกขาย เพื่อนำไปสกัดน้ำหอม นำไปทำเป็นส่วนประกอบของสปา เป็นต้น

อ้างอิง
ข้อมูล : วิกิพีเดีย
รูปภาพ : www.bloggang.com

วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทานตะวัน


           ทานตะวัน เป็นพืชปีเดียว (Annual plant) อยู่ในแฟมิลี Asteraceae มีฐานรองกลุ่มดอก (Inflorescence) ขนาดใหญ่ ลำต้นโตได้สูงถึง 3 เมตร ฐานรองกลีบดอกอาจกว้างได้ถึง 30 เซนติเมตร ชื่อ"ทานตะวัน"ถูกใช้อ้างอิงถึงพืชทั้งหมดในจีนัส Helianthus ด้วยเช่นกัน

             ทานตะวัน เป็นพืชท้องถิ่นของอเมริกากลาง มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการปลูกดอกทานตะวันในประเทศเม็กซิโกตั้งแต่ประมาณ 2600 ปีก่อนคริสตกาล

          ตำนานดอกทานตะวัน ในเทพนิยายกรีกมีนางไม้ชื่อ Clytie ที่หลงรักเทพอพอลโล ซึ่งเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ ได้เฝ้ามองอพอลโลทุกวันจนผมสีทองของเธอกลายเป็นกลีบดอกสีเหลืองและใบหน้า กลายเป็นดอกทานตะวัน ชื่อ Helianthus มาจากคำว่า helios ที่แปลว่าดวงอาทิตย์ กับคำว่า anthos ที่แปลว่า ดอกไม้

           การเข้ามาของดอกทานตะวันในประเทศไทย ดอกทานตะวันเข้ามาในประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวฝรั่งเศสนำมาปลูก

          ลักษณะนิสัยของคนที่ชอบดอกทานตะวันที่สุด เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองมาก และถือดีในความรู้ความสามารถของตนไม่น้อย ชอบพึ่งพาตัวเองมากกว่าคนอื่น เป็นคนตั้งเป้าหมายในชีวิตสูง

           การใช้ประโยชน์ านตะวันเป็นพืชให้น้ำมันโดยสกัดจากเมล็ด น้ำมันดอกทานตะวันมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงสามารถนำไปใช้ในการฟอกหนังและประกอบอาหาร

            ทานตะวันเป็นพืชที่มีบทบาทมากในการฟื้นฟูดิน ตัวอย่างเช่น ทานตะวันสะสมตะกั่วได้ 0.86 mg/kg เมื่อเลี้ยงแบบไฮโดรโพนิกส์และส่งเสริมการย่อยสลายคาร์โบฟูรานได้ 46.71 mg/kg

อ้างอิง
ข้อมูล :
·       University of Cincinnati (2008, April 29). Ancient Sunflower Fuels Debate About Agriculture In The Americas. ScienceDaily. Retrieved April 29, 2008, from /releases/2008/04/080429075321.htm
      ·       สุพัตรา แก้วแสนสุข, นิตยาไชยเนตร, และ พอจิต นันทนาวัฒน์. (2551). ผลของตะกั่วไนเตรตต่อ อัตราการงอกและการเจริญเติบโตของพืชในระบบไฮโดรโพนิกส์. การประชุมเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 9, 14 – 15 มีนาคม 2551, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา
      ·       Teerakun, M. (2004). Phytoremediation of Carbofuran Residue in Soil. Thesis, Khon Kaen University.
      ·       ดูเพิ่มเติมที่ รายชื่อพืชที่สะสมสารบางชนิดได้ดี
รูปภาพ : travel.sanook.com

วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชงโค


           ชงโค (อังกฤษ: Butterfly Tree, Orchid Tree, Purple Bauhinia) มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนรวมถึงฮ่องกงและทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ ดังนี้ :ชงโค เสี้ยวเลื่อย (ภาคใต้) , เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ) , เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน)กะเฮอ สะเปซี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ในสหรัฐอเมริกานิยมปลูกกันที่รัฐฮาวาย, รัฐแคลิฟอร์เนีย,ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา และทางตอนใต้ของรัฐเทกซัส ชงโคเป็นไม้ที่ชอบแดด ควรปลูกในที่ได้รับแสงแดดทั้งวัน ดินปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำดี มีความชื้นสูง

          ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มหรือไม้ต้นผลัดใบขนาดกลาง สูงประมาณ 15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างรูปทรงไม่แน่นอน ใบเดี่ยว เรียงสลับ เป็นรูปไข่แยกเป็น 2 แฉกลึก คล้ายใบติดกันหรือใบแฝด มีขนาดประมาณ 20 ซม. ดอกสีชมพูอมม่วง, สีม่วงสดคล้ายกล้วยไม้ และสีขาว มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ตลอดวัน ดอกบานเต็มที่ขนาด 6-8 ซม. ช่อดอกออกตามซอกใบและปลายกิ่ง มีจำนวนดอกน้อย เกสรตัวผู้ 3 อัน ขนาดไม่เท่ากัน ออกดอกเกือบตลอดปี ออกดอกมากในฤดูหนาว การขยายพันธุ์ใช้การตอนกิ่ง ปักชำและเพาะเมล็ด

          ประโยชน์ : ใช้รากเป็นยาขับลม เปลือกเป็นยาแก้ท้องร่วง มีฤทธิ์แก้ท้องเสีย พอกฝี สารสกัดเอทานอล 50% ของชงโค เพิ่มระดับฮอร์โมนไทรอกซินในหนูทดลอง มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง
 
อ้างอิง
ข้อมูล : ระวิวรรณ แก้วอมตวงศ์. สารทุติยภูมิและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพืชสกุลชงโค วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. หน้า 116 - 130
รูปภาพ : ftpmirror.your.org

นมตำเลีย


        นมตำเลีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hoya parasitica (Roxb.) Wall. ex Wight เป็นหนึ่งในพืชสกุลโฮย่า (Hoya) เป็นไม้เถาว์เลื้อยขนาดเล็ก สามารถพบได้ในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมไปถึงบางเกาะกลางทะเลในเขตประเทศไทย และมีความหลากหลายของขนาดและรูปร่างใบ สีสันของดอก รูปทรงของมงกุฏ (corona) ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว ดอกมักออกในช่วงฤดูร้อนของปี จนถึงต้นฤดูฝน ช่อดอกทรงกลม เมื่อดอกบานกลีบดอก (corola)จะพลิกกลับไปด้านหลัง ดอกมีกลิ่นหอมรุนแรง ดอกขนาด 1 - 1.5 ซม.
 
นมตำเลียในวรรณกรรม
กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย
นมตำเลียเรี่ยทางไป
หอมหวังวังเวงใจ
ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมเหลียว
นิราศธารทองแดง - พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร
 
               โฮย่าเป็นหนึ่งในกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่ อยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae ดร.โรเบิร์ต บราวน์ (Dr.Robert Brown) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ได้ตั้งชื่อสกุลของโฮย่าขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2353 จากชื่อของเพื่อนผู้หนึ่ง คือ นาย Thomas Hoy ผู้ดูแลสวนของยุคแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษในช่วงปลายคริส์ตศตวรรษที่ 18 ถึง ต้นคริส์ตศตวรรษที่ 19 ซึ่งแต่เดิมพืชชนิดนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Asclepias carnosa L.f. โฮย่าต้นแรกที่ ดร. โรเบิร์ต บราวน์ ตั้งชื่อและยึดถือเป็นต้นแบบของพืชสกุลนี้คือ Hoya carnosa L.f. Brown มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีน และฮ่องกง กล่าวกันว่าสวนของแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์นั้นเป็นแหล่งรวบรวมพืชแปลกและหายาก จากทั่วโลก จึงเป็นไปได้ว่าโฮย่าต้นนี้ได้ปลูกไว้ที่สวนแห่งนี้ด้วย

                  ปัจจุบันโฮย่าชนิดนี้เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วโลก และยังมีโฮย่าอีกหลายชนิดที่ปลูกเป็นทั้งไม้ประดับดอกและใบได้อย่างสวยงาม โฮย่าหลายชนิดมาจากป่าภายใน ประเทศไทยของเรามีอยู่ชนิดหนึ่งที่มีบทบาทมากในการใช้เป็นไม้ประดับใบที่ นิยมในปัจจุบันคือ Hoya kerrii หรือที่เรารู้จักกันในนามโฮย่าใบหัวใจนั้นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
            ดอก เป็นเอกลักษณ์ของโฮย่าที่แตกต่างจากต้นไม้อื่นและสามารถใช้จำแนกสายพันธุ์ ต่างๆ ได้ดีดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม เกิดที่ข้อใบและมักห้อยลง ก้านช่อดอกมีอายุนานหลายปีและเกิดดอกซ้ำได้หลายครั้ง ดอกออกเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 5 อัน ลักษณะเด่นของดอกคือมีกลีบดอกเป็นมันคล้ายทำด้วยขี้ผึ้ง สีสันสดใส จึงมีชื่อเรียกว่า Wax Plant หรือบางชนิดกลีบดอกมีขนฟูคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม ส่วนมากมักจะมันแววบาง มีแทบทุกสี สีขาว นวล เหลือง ชมพู แดง ม่วงเข้ม โฮย่าบางพันธุ์ มีพันธุ์ย่อย ใบเหมือนกันทรงดอกเหมือนกัน แต่สีดอกผิดแผกกัน เช่น มงกุฎขาวเปลี่ยนเป็นมงกุฎแดง นอกจากนี้ยังมีส่วนที่คล้ายมงกุฎ 5 แฉก (corona) ครอบอยู่ตรงกลางเหนือกลีบดอก เกสรเพศผู้ 5 อัน มีลักษณะคล้ายก้อนขี้ผึ้ง (polonium) อยู่ระหว่างแฉกของมงกุฎ ส่วนเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่กึ่งกลางมงกุฎ ดอกโฮย่าหลายพันธุ์ มีน้ำหวานข้นติดอยู่กลางดอกทำให้เพิ่มความสวยงามและความแวววาวมากยิ่งขึ้น

          ช่อดอก ลักษณะเด่นของโฮย่า คือ ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็มกระจายออกจากก้านช่อดอก ส่วนมากจะคว่ำหน้าลง จำนวนดอกต่อช่อมีตั้งแต่ 7 - 70 ดอกต่อช่อ แล้วแต่สายพันธุ์ลักษณะมาตรฐานคือทรงกลมเป็นลูกบอลแต่มีทรงอื่นๆ อีก เช่น ทรงกลม ทรงฝักบัวโค้งออก ทรงฝักบัวโค้งเข้า ทรงฝักบัวแหงนขึ้น

          ก้านช่อดอก ก้านช่อดอกเป็นเอกลักษณ์อันหนึ่งของโฮย่า เพราะเป็นดอกไม้ชนิดเดียวที่ก้านช่อดอกมีอายุยืนยาวหลายปีและออกดอกซ้ำที่ ก้านช่อดอกได้เรื่อยๆ ทำให้ก้านช่อดอกงอกยาวไปได้จน ถึง 7-8 ซม. ไม่สมควรตัดก้านช่อดอกออกเพราะจะทำให้การออกดอกหยุดชะงัก ก้านช่อดอกบางพันธุ์อยู่ที่ยอดอ่อนบางพันธุ์เกิดที่ปลายยอด บางพันธุ์เกิดที่ข้อใต้ใบ และบางพันธุ์ยังแตกก้านช่อดอกเป็นแขนงออกได้ เช่น Hoya latifolia

           กลิ่น น้อยชนิดที่ไม่มีกลิ่น กลิ่นมีแตกต่างกันออกไปมากมายสุดเกินที่จะบรรยาย บางพันธุ์หอมมาก บางพันธุ์กลิ่นหอมคล้ายผิวเปลือกของผลไม้ บางพันธุ์ก็มีกลิ่นเหม็นคล้ายกับกลิ่นคาวปลา ส่วน มากให้กลิ่นตอนเย็น ค่ำ และกลางคืน มีบางชนิดที่มีกลิ่นในช่วงกลางวัน ยิ่งอากาศร้อยกลิ่นก็จะยิ่งรุนแรง ฤดูดอก บางพันธุ์มีดอกตลอดปี แต่ส่วนมากจะมีดอกเป็นช่วงๆ ฤดู บางพันธุ์ออกดอกช่วงต้นฤดูร้อนบางพันธุ์ออกดอกช่วงปลายฤดูฝน ส่วนชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวจะออกดอกในฤดูหนาว

           ใบ ใบของ Hoya ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้าง ยกเว้น Hoya imbricata ที่มีใบซ้อนเหลื่อมกัน (imbricate) ส่วนมากค่อนข้างหนา บางพันธุ์สะสมน้ำในใบเหมือนกุหลาบหิน ใบมีรูปทรงแตกต่างกันมาก ตั้งแต่รูปเป็นแท่งคล้ายดินสอ ไปจนถึงรูปกลม รูปไข่ รูปใบโพธิ์ รูปขนาน รูปหัวใจ รูปสี่เหลี่ยมแถบกว้าง แถบแคบ บางชนิดมีผิวใบหยาบเหมือนแผ่นหนัง หรือมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม แม้ใบจะมีรูปทรงมากมายแต่การใช้ใบจำแนกสายพันธุ์ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะ Hoya ในกลุ่มของ Hoya parasitaca เพราะลักษณะใบจะผิดแปลกไปตามสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณน้ำ ปริมาณแสงที่ได้รับ ความสมบูรณ์ของต้น ของใบที่อายุแตกต่างกัน นอกจากนั้นสีใบก็ใช้บอกสายพันธุ์ได้ยาก เช่น โฮย่าในป่าหน้าแล้งใบตึงเล็กอวบน้ำจนแทบไม่มีเส้นใบ มีสีน้ำตาลแดง พอเข้าหน้าฝนใบใหม่สายพันธุ์นั้นจะบางใหญ่เห็นเส้นใบชัดเจน มีสีเขียวอ่อน ดังนั้น ใบในเถาเดียวกันก็มีโอกาสผิดแปลกกันได้ และที่ยากยิ่งคือใบของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน บางกลุ่มมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากการแยกสายพันธุ์โดยสังเกตใบต้องใช้ความ ชำนาญมาก และก็ไม่สามารถแยกได้ทุกชนิด

            ลำต้น ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยพัน แต่มีลักษณะอื่นๆ อีกซึ่งพอจะจำแนกได้เป็นกลุ่ม ไม้พุ่มเล็กตั้งต้นไม้รอเลื้อย ไม้เลื้อย ทุกพันธุ์มีลักษณะเป็นปล้อง มักมี 2 ใบที่ ข้อ แต่บางพันธุ์ออกใบเป็นกลุ่ม รอบข้อส่วนมากมียางสีขาวในลำต้น

             ผล เป็นฝักรูปร่างทรงกระสวยยาวเมื่อแก่จะแห้งและแตกออกเพียงด้านเดียว ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก เมล็ดมีขนพิเศษ (coma) ช่วยในการกระจายพันธุ์ไปตามลม เมล็ดที่ตกในที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตต่อไป

             ราก และลักษณะการเติบโต โฮย่าเป็นพืชเกาะอาศัย ตามลำต้น ตามกิ่ง มีทั้งห้อยลง ตั้งขึ้นและเลื้อยพันจนแน่น เติบโตช้าถึงปานกลาง ชนิดที่ไม่เป็นไม้พุ่มมีรากที่โคนต้นและขึ้นบนพื้นดินได้โฮย่าส่วนมากมีราก พิเศษระหว่างปล้องข้อมากมาย
 
อ้างอิง
ข้อมูล : วิกิพีเดีย
รูปภาพ : share.psu.ac.th